ประเด็นร้อน

นายกฯเร่งรถไฟไทย-จีน เอื้อประโยชน์ประเทศ

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 21,2017

 - - สำนักข่าว ผู้จัดการรายวัน 360 องศา วันที่ 21/06/60 - -


ผู้จัดการรายวัน360 - "ประยุทธ์" แจงโครงการรถไฟไทย-จีน เป็นไปตามนโยบาย"สร้างความแตกต่างเพื่ออนาคต" เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้าน "อาคม" พร้อมเร่งเคลียร์สภาวิศวกรและสถาปนิก ออกแบบหลักสูตรอบรมวิศวกรจีน เพื่อเซ็นสัญญาออกแบบ ใน ก.ค. 60 บีบค่าจ้างออกแบบไม่เกิน 1,824 ล้านบาท
          
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่รัฐบาลไทยให้รัฐบาลจีนดำเนินการ ว่า ตนยังไม่เคยพูดเลยว่าเรื่องเงินทุนจะไปกู้เงินใครมา แต่ได้เสนอข้อพิจารณาว่าหากใช้เงินของจีนจะมีดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถ้าเงินกู้ หรือเงินที่ต้องใช้จากส่วนอื่นๆ ต่ำกว่าตรงไหนก็ใช้ตรงนั้น ส่วนเรื่องพื้นที่มีคนบุกรุกต้องค่อยๆ เคลียร์ไป ถ้าไปทำตรงที่มีความ ขัดแย้งกันมาก ติดข้อกฎหมายก็จะเริ่มโครงการไม่ได้ ดังนั้นสัญญาฉบับนี้จะทำเฉพาะเส้นทางสายนี้เท่านั้นไม่เกี่ยวกับที่อื่น แต่เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย เป็นสายแรกต้องให้เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมระหว่างประเทศ
          
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ตนให้แนวทางข้าราชการว่าให้คิดใหม่ทั้งหมดไม่ใช่เอื้อประโยชน์ใคร ต้องมองว่าจะเอื้อประโยชน์ของประเทศในอนาคตคือ "make different for the future" แปลว่า "สร้างความแตกต่างเพื่ออนาคต" ต้องไม่ได้มองจากข้อขัดแย้ง ปัญหา หรือทุจริต การทำงานวันนี้ต้องทำแบบ "tailor made" คือทำขึ้นมาเป็นเฉพาะให้เหมาะสม หมายถึงหาเป้าหมายวิธีการให้เจอให้ตรงกลุ่ม ไม่ใช่โปรยปรายไปหมด รวมถึงจัดสรรงบประมาณลงไป รัฐบาลจะต้อง "tailor made" ให้เหมาะกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทำเพื่อไปเอื้อประโยชน์กับใคร แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ รวมถึงกระจายรายได้สู่คนส่วนน้อยที่มีรายได้น้อย
          
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เรื่องรถไฟไทย-จีนขอให้เกิดขึ้น วันนี้ทุกอย่างชี้แจงไปได้หมดแล้ว และสมาคมวิศวกรเข้าใจแล้ว มีการหารือกันมามายเพื่อตอบปัญหา ไม่มีอะไรเป็นไปตามที่มีความกังวลเลย ไม่ใช่เอาคำสั่งหัวหน้า คสช.มาใช้กับการสร้างรถไฟทั้งหมด เพราะมีการข้อตกลงกันมาแล้วตั้ง 18 ครั้ง ต้องเคารพหลักการซึ่งกันและกัน
          
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ- นครราชสีมา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 มิ.ย. 60 ได้รับทราบคำสั่งมาตรา 44 แล้ว โดยขณะนี้ งานออกแบบได้ทำคู่ขนานไปแล้วมีความก้าวหน้า 95% คาดว่าจะลงนามสัญญาออกแบบกับจีนได้ภายในเดือน ก.ค.ศกนี้ โดยตามคำสั่งมาตรา 44 ให้ยกเว้น พ.ร.บ.เรื่องการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกร และสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรม และทดสอบแก่บุคลากรตามความเหมาะสม ซึ่งได้แจ้งให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไทย ได้รับทราบแล้ว โดยทั้ง 2 สภาจะหารือเพื่อจัดหลักสูตร อบรม ทดสอบความรู้ เทคนิคพื้นฐาน ข้อกฎหมายต่างๆ สภาพภูมิประเทศของไทย ให้วิศวกรจีนได้เข้าใจสภาพของประเทศไทย
          
ทั้งนี้ แม้มาตรา 44 จะยกเว้น พ.ร.บ. แต่เพื่อความปลอดภัย จะให้วิศวกรและสถาปนิกจีนมาอบรมตามหลักสูตรที่ 2 สภาฯ ได้จัดทำ โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เสร็จก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาออกแบบ และจะต้องเจรจาให้อยู่ในกรอบค่าจ้างที่ 1,824 ล้านบาท โดยโครงการช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 179,412 ล้านบาท ยังคงเป้าหมายจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน มิ.ย.60 เพื่อเริ่มการก่อสร้างในเดือน ส.ค.- ก.ย. 60
          
อนึ่ง โครงการรถไฟไทย-จีนรัฐบาลไทยได้ลงนาม MOU กับจีน ตั้งแต่เดือนธ.ค. 57 แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ตอนคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย โดยศึกษาออกแบบช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน แบ่งงานเป็น 2 รายการคือ 1. สัญญาการก่อสร้างซึ่งจะใช้ผู้รับเหมาไทยและวัสดุในประเทศสัดส่วน 75% 2.สัญญาออกแบบควบคุมการก่อสร้างและงานระบบราง อาณัติสัญญา ตัวรถ ความเร็ว 250 กม. /ชม. ใช้เทคโนโลยีจีนสัดส่วน 25%.